ในเช้าวันฟ้าใส แสงแดดสีทองเริ่มสาดส่อง ขัีบไล่หยดน้ำ ที่เกาะตาม ขอบใบแตงกวาให้ระเหยหายไป ขณะนี้เวลาหกโมงเช้ากว่าๆ ผมและเพื่อนร่วมงาน จอดรถมอเตอร์ไซด์ตรงหัวแปลง เราเดินลงแปลงด้วยความสดชื่นและคุ้นเคย เพราะเช้านี้มันก็คล้ายกับเช้าวันก่อนๆ แต่สิ่งหนึ่งที่แปลกไป คือ เต่าแตง ปกติต้องเห็นมันบิน หรือไม่ก็เห็นมันจับคู่เมทกันบนใบแตงกวา มาวันนี้ทำไมพวกมันพากันตายเกลื่อน ทิ้งซากสีส้มๆแดงๆ ตกอยู่บนพลาสติกคลุมแปลง ผมหยุดความสงสัยเรื่องการตายของเต่าแตงไว้แค่นั้น เพราะต้องรีบเก็บข้อมูลให้เสร็จก่อนเข้างานต่อก่อนแปดโมงเช้า
ด้วยความที่ยังไม่มีข้าวตกถึงท้องเลยในเช้านี้ ทำให้รู้สึกหิวขึ้นมา เมื่อเห็นแตงอ่อนที่ไม่ได้ทำการผสมเหลือรอดอยู่ จึงเด็ดมาใส่ปากเคี้ยวๆ แล้วเมื่อรู้สึกว่ารสชาติมันขมเฝื่อนๆติดลิ้น ก็รีบคายทิ้งในทันที ปากบอกกับเพื่อนร่วมงานว่า “เบอร์นี้ไม่ไหว ขมแต่เล็กแต่น้อยเลย” (แล้วก็ทำหน้าหัวเราะเจื่อยๆ) เดินมาได้ถึงกลางแปลงเจออีกลูกแล้ว เด็ดออกมา กัดขั้วแล้วใช้ลิ้นแตะชิมบริเวณขั้วก่อน “อืม.. เบอร์นี้หัวไม่ขม ใช้ได้..” แล้วก็ยัดเข้าปากทั้งลูก รีบเคี้ยวๆแล้วก็กลืนลงท้องไป ความรู้สึกรสชาติมันก็ออกหวานตามประสาแตงตามท้องตลาดนะ แต่ทำไมมันรู้สึกฝาดๆ และคอแห้ง สงสัยต้องหากินล้างคออีกซักลูก
เมื่อเดินไปถึงท้้ายแปลง เจออีกลูกแล้ว เด็ดขึ้นมากำลังจะเข้าปาก โทรศัพท์ในกระเป๋ากางเกงมันสั่นขึ้นเสียก่อน เลยควักออกมารับสาย เสียงคนที่โทรมา บอกอย่างตื่นเต้นว่า “เฮ้ย แปลงแตงที่แกกำลังลง พี่พ่นยาเต่าแตงไปเมื่อวานตอนค่ำนะ อย่าเพิ่งกินนะโว้ย..” อ่าว..เวรล่ะสิตู กินเข้าไปแล้ว เลยถามไปว่ายาอะไร ในหัวคิด ปกติเต่าแตงใช้ เซฟวิน ยาไม่แรงเท่าไหร่ คงไม่เป็นไร แต่คำตอบจากลูกพี่ตัวดี คือ “จำไม่ได้ว่ะ ผสมไรบ้าง แต่มีแลนเนทด้วย” เท่านั้นแหละ รู้สึกร้อนๆหนาวๆขึ้นมาทันที ได้แต่รำพึง “ทำไมไม่รอให้กินหมดแปลงก่อน แล้วค่อยบอก..“
หลายสิ่งหลายอย่างที่พบเจอ ในระหว่างทางของการเรียนรู้ มันช่างฉุด attitude ของผมให้ตกต่ำลงเหลือเกิน มีคำถามว่า เราทำไปเพื่ออะไร? เพื่อใคร? เราตั้งเป้าว่า จะได้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และต้านทานโรค และเพื่อเกษตรกรได้มีพันธุ์ที่ดีไว้ใช้ และเพื่อประชากรโลกได้มีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ แต่ทำไมยิ่งมีพันธุ์ออกมาเท่าไหร่ เกษตรก็ยิ่งยากจน และประชากรโลกก็ยังคงอดอยากเหมือนเดิม
เพราะแท้จริงพันธุ์ที่ออกมา จุดประสงค์คือ เพื่อการค้า ปลูกได้แค่ชั่วเดียวแล้วต้องซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกอีก และพันธุ์พวกนี้ต้องเลี้ยงมันด้วย ปุ๋ย+ยา ถึงจะให้ผลิตผลดี ทำให้ต้นทุนในการผลิตก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย เพราะปุ๋ย, ยา, สารเคมีต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องซื้อมา ไม่ได้แถมเป็นแพคเกจจิ้งเดียวกับเมล็ดนะ
บางครั้งหนึ่งโครงการปรับปรุงพันธุ์ ในกระบวนการที่เป็นไปนั้น อาจต้องใช้ชีวิตคนพ่นยาไปด้วย จนกว่าจะได้พันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว จนกว่าจะออกพันธุ์ได้ แน่นอนมันคือผลงานที่จะสร้างชื่อเสียง ทำกำไรให้กับเจ้าของผลงานอย่างงดงาม สิ่งที่ลงทุนคุ้มค่ามาก … แต่มันคุ้มค่าจริงหรือ? ชีวิตที่ใช้ไป คุณยังไม่เห็นค่าเลย..
มาวันนี้ ผมนึกถึึง คุณ โจน จันได, นึกถึงสิ่งที่เขาทำ, นึงถึงบทความ ไขปัญหาวิกฤติเมล็ดพันธุ์ ต้นเหตุ เกษตรกร เป็นหนี้, และนึกขึ้นได้ว่า ผมก็เห็นด้วยกับเขานะ.
น่อแจะ
ชอบคอลัมน์แบบี้มากเลยครับ เขียนเยอะนะ รออ่านอยู
ศศิ
เห็นด้วยกับคุณ..เมื่อแตงอ่อนทำให้ฉันเกือบตายมากคะ แล้วเราจะช่วยสังคมของเราตรงนี้ได้อย่างไร เช่นให้ความรู้ ปลุกจิตสำนึก หรือทำอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่านั้น ..สำนึกดี สังคมดีนะคะ
ติวตี้
ตลกดี