เมื่อผู้คนเดินสู่กรุงเพื่อพบทางชนะ แต่เขาเลือกพ่ายอย่างไม่สิ้นหวัง…
ทั้งชีวิตมีเสื้อผ้า 5 ชุด เมีย 1 ลูก 1 พร้อมตายทุกเมื่อ เพียงวันนี้ ได้เป็นเกษตรกร…
บางคนตื่นเต้น กับการสร้างชาติ ให้เป็น “ครัวโลก” เขามองว่าคน ในประเทศ เข้าสู่ยุค วิกฤติอาหาร!!
นี่เป็นเหตุผล ที่ทำให้เขาหันมา เพาะเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน เพื่อแจกจ่าย (ฟรี) ชายผิว กรำแดด คนนี้ชื่อ โจน จันได วัย 45 ปี ขณะนี้บ่มเพาะ ความฝันอยู่บนดอยใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่ศูนย์เรียนรู้ เพื่อการพึ่งตนเอง และ ศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ พันพรรณ
7 ปี อยู่กรุงเทพฯ 2 ปี ในสหรัฐ อเมริกา ยึดอาชีพล้างจานและยามเป็นหลัก วันหนึ่งค้นพบตัวเองว่า เกษตรกรไทย ทำงานเพื่อใช้หนี้ มากกว่าเลี้ยงตัวเอง
“ชาวนาไทย ขณะนี้ทำนาปีละมากกว่า 2 ครั้ง ต่างจากเดิม ที่บรรพบุรุษทำปีละ 2 ครั้ง นี่บ่งบอกว่า เกษตรกรกำลังทำงาน อย่างหนัก แต่ค่าแรง ที่ได้ก็ไม่พอใช้จ่ายต้องเสียเงินค่ายา ค่าปุ๋ย ต่าง ๆ นานามากมาย จนเกิด คำถามว่า วันนี้เราทำงานเหนื่อยหนักเพื่อใคร..?”
โจน กล่าวถึงแนวคิดว่า ตอนนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้เมล็ดพันธุ์ในการปลูกผักต่าง ๆ เป็นพันธุ์ผสม ที่ออกแบบมา เพื่อสนองต่อปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ต่างจากเดิมที่เป็นพันธุ์แท้จะทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวง ให้เกษตรกรปัจจุบัน ต้องทำงานหนัก ขึ้นเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าต้นทุนการผลิตที่นับวันจะแพงขึ้น
ขณะเดียวกันเมล็ดพันธุ์ ที่ซื้อมา ก็ไม่สามารถนำมาปลูก ต่อได้ เนื่องจาก บางสายพันธุ์ถูกออกแบบไม่ให้สามารถงอกขึ้นได้อีก เกษตรกร จึงจำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ อยู่เสมอ ขณะเดียวกันพันธุ์ในท้องตลาดจะมีเพียงชนิดเดียว ที่ชาวบ้านเชื่อว่าดีที่สุด และปลูกเพียงชนิดเดียวส่งผลให้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ พืชผลเหล่านั้นล้มตายทำให้ขาดทุนเป็นหนี้
ตัวอย่าง เช่น ชาวนาสมัยก่อนปลูกข้าวหนึ่งแปลงใช้เมล็ดไม่ต่ำกว่า 3 สายพันธุ์ ทำให้เมื่อเกิดน้ำท่วมหรือความแห้งแล้งต้นกล้าที่มีความคงทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงยังคงอยู่ ขณะที่ต้นกล้าซึ่งทนต่อสภาพอากาศไม่ได้จะตายลง ต่างจากปัจจุบันชาวนาปลูกข้าวสายพันธุ์เดียวพอเจอความเปลี่ยนทางอากาศพืชเหล่านั้นก็ตายหมด
ตอนนี้ 90% ของพันธุ์พืชในตลาดต้องพึ่งพาสารเคมีเพื่อการเจริญเติบโต เป็นผลร้ายต่อสุขภาพคนรับประทาน และยังเป็นผลร้ายต่อเกษตรกรที่จะต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ ซึ่งเกิดจากสารเคมีที่สะสมใน ร่างกาย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่สังคมต้องรีบหาทางแก้ก่อนที่อนาคตของคนไทยจะมีภูมิต้านทานต่ำ
เมล็ดพันธุ์ผสมที่ถูกออกแบบมาเพื่อการค้ามักคัดเฉพาะลักษณะเด่นของสายพันธุ์มารวมกัน แต่เมื่อนำเมล็ดพันธุ์รุ่นที่สองไปปลูกจะให้ผลผลิตไม่เหมือน รุ่นแรก ลักษณะหลายอย่างกลับไปเหมือนสายพันธุ์ดั้งเดิม เช่น บางต้นหวาน บางต้นเปรี้ยว ไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้
จากแนวคิดของเกษตรกร ยุคสมัยใหม่ที่ต้องการปลูกผัก เพื่อขายมากกว่ากินเอง โจน มองว่า แนวความคิดเหล่านี้เป็น หลุมพรางที่กำลังหลอกล่อให้เกษตรกรทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ผักเยอะมากที่สุด โดย ลืมนึกถึงสุขภาพของคนกิน ทำให้เริ่มใช้สารเคมีเพาะปลูกผักมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ทำให้ โจน หันมาอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชดั้งเดิมมากขึ้น ก่อนสูญหายไปจากโลกนี้ โดยเฉพาะพันธุ์ที่นิยมทาน เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว และมะเขือเทศอีกหลายร้อยสายพันธุ์ เป็นต้น
“สำหรับผักสายพันธุ์ไทยอย่างกระถิน ชะอม ยังถือว่าไม่น่าห่วงกว่าพันธุ์ต่างชาติที่เข้ามาในประเทศเช่น คะน้า กวางตุ้ง มะเขือเทศ ถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติเพราะผู้ขายพยายามพัฒนาสายพันธุ์ตอบสนองกับการเกษตรเพื่อขายมากที่สุด”
โจน กล่าวว่า ตอนนี้ได้รวบรวมและเก็บเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมจากทั่วโลกได้กว่า 300 ชนิด รวบรวมไว้ในตู้เย็น ซึ่งเก็บไว้ได้นานประมาณ 2 ปี โดยส่วนหนึ่งจะแจกจ่ายให้กับชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง และผู้สนใจอย่างจริงจัง เนื่องจากตอนนี้เมล็ดพันธุ์ยังไม่พอแจกจ่ายให้กับบุคคลทั่วไป แต่หวังว่าในอนาคตเกษตรกรคงเริ่มหันมาสนใจการปลูกพันธุ์ดั้งเดิมมากขึ้น
หลายคนมองว่าล้าหลัง แต่โจนกล่าวอย่างภาคภูมิใจในวิถีตะวันออกของบรรพบุรุษซึ่งสร้างไว้เพื่อให้ลูกหลานได้กินอยู่อย่างสบายไม่ต้องทำงานอย่างลำบากเหมือนปัจจุบัน ทุกวันนี้มีชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาในศูนย์การเรียนรู้ฯ มากมายในแต่ละปี แม้ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในราคาแพง ตรงข้ามกับคนไทยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็น้อยคนจะหันมาเรียนอย่างจริงจัง
“อาหารต้องเป็นของทุกคน แต่ถ้าประเทศใดพืชพันธุ์ ข้าวปลา ยารักษาโรคแพง ประเทศนั้นกำลังเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอย ผมไม่อยากให้เราเป็นอย่างนั้นจึงเพาะเมล็ดพันธุ์แจกเกษตรกรเพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้บริโภค”
ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนเยินยอคนฉลาดซึ่งสามารถผลักดันตัวเองให้สู่อันดับต้น ๆ ของคนมีเงิน แต่ในความคิดของ โจน คนฉลาดคือ บุคคลที่ค้นหาความสุขให้กับตนเองได้โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ
ตราบใดที่แบบเรียนขั้น พื้นฐานยังจารึกว่า ประเทศไทยอาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่คือ เกษตรกรรม ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งทุกคนต้องร่วมกันดูแลพวกเขาให้กินอิ่มนอนหลับ
แต่เมื่อใดกระดูกสันหลังของชาติกำลังผุกร่อนแล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร…?.
ข่าวจาก: เดลินิวส์
kulfangy
คิดเหมือนกัน ตอนนี้ที่บ้านเพิ่งซื้อที่มา อยู่จังหวัดตราด แต่พื้นที่เป็นดินแดง (ดินลูกรัง) เดิมปลูกเงาะอยู่ อยากทราบว่าจะสามารถปลูกไรได้บ้างที่จะสามารถเลี้ยงพ่อกะแม่ได้ก่อนที่จะคิดรวยในอนาคต
Forestry30
ขออนุโมทนาด้วยในจิตอันเป็นกุศลของคุณ ขอผลบุญนี้ เกื้อหนุนให้โลกนี้กลับมาหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตดังเดิม
iThip
อยากให้มีคนคิดเพื่อคนอื่นแบบนี้เยอะๆ ชอบคุณโจน จันได มากค่ะ
payai
ชอบมากเรื่องเกษตรแต่ไม่มีความรู้และลองปลูกแล้วผักสวยเหมือนคนอื่นทำ
ครูสุรินทร์
เป็นบทควาที่ดีมาก ขอสนับสนุนครับ ประเทศไทยควรเข้มแข็งด้วยตนเอง เรามีพันธุ์พืชคุณภาพ ต้องรักษาไว้ให้ลูกหลาน