วิธีการปลูกถั่วฝักยาวที่ดีที่สุดคือ

ถั่วฝักยาวนั้นถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะคนนิยมรับประทานกันมาก และหลายท่านก็สนใจในการปลูกถั่วฝักยาวกันมาก แต่บางท่านได้ลองปลูกแล้วก็พบปัญหาแมลงและวัชพืชต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ด้วยบทความนี้เราจะมาสอนวิธีการปลูก การใส่ปุ๋ย การพรวนดิน รวมถึงการกำจัดวัชพืชและแมลงที่เหมาะสมให้กับท่านๆที่สนใจรับปราบกัน ถ้าพร้อมแล้วก็เชิญอ่านได้เลยจ้า

  1. ต้องเริ่มจากการเตรียมดิน เราสามารถปลูกถั่วฝักยาวได้ตลอดทั้งปีและเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน แต่ดินที่ดีที่สุดในการปลูกถั่วฝักยาว คือดินร่วนปนทราย ที่มีค่าpHอยู่ที่ประมาณ6หน่วย ซึ่งความต้องการในการเจริญเติบโตของถั่วฝักยาวนั้น ต้องมีความชื้นในดินที่เหมาะสม เพราะถั่วฝักยาวเป็นพืชชนิดที่มีระบบรากละเอียดอ่อน จึงต้องการดินที่มีความชื้นพอสมควรแต่ต้องเป็นดินที่มีการระบายน้ำที่ดีด้วย

ขั้นตอนแรก ควรไถพรวนหน้าดินให้มีความลึกประมาณ 25 ซม. เสร็จแล้วให้ตากดินโดยดูว่าแสงแดดแรงหรือไม่ ถ้าแสงแดดดี ก็ให้ตากทิ้งไว้ประมาณ 4-5 วัน แต่ถ้าเป็นช่วงฟ้าปิดก็ให้ดูตามความเหมาะสม เพราะการตากหน้าดินนั้น จะมีประโยชน์ในการฆ่าเชื้อโรคหรือไข่แมลงต่างๆที่เป็นศัตรูกับถั่วฝักยาว หลังจากไถพรวนหน้าดินเรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนที่สอง ให้เก็บวัชพืชต่างๆออกให้หมดและให้โรยปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยคอก ในสัดส่วน ประมาณ 3 ตันต่อไร่โดยให้วัดค่า pH ในดินให้เหมาะสมด้วย แต่ถ้าปลูกในแถบภาคตะวันออกหรือภาคกลางตอนล่าง ควรโรยปูนขาวร่วมด้วย ในสัดส่วนประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถพรวนหน้าดิน พร้อมตากดินนานประมาณ 3 วัน อีกครั้ง

ขั้นตอนที่สาม หลังจากนั้นยกร่องแปลงปลูกถั่วฝักยาว ให้มีขนาดกว้างประมาณ 90 ซม. และยาวขนานกับพื้นที่ดินที่เรามี และให้ไถยกร่องระหว่างแปลงปลูกถั่วฝักยาว ให้มีขนาดประมาณ 70 ซม.เพื่อไว้เดินเข้าออก

  1. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ สามารถหาซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ตามตลาดทั่วไปแต่ต้องคัดเมล็ดพันธุ์ที่ดีและสมบูรณ์พร้อมปลูก หลังจากนั้นให้เอามาคัดเมล็ดที่แตกออกแล้วให้แช่น้ำที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อราประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งในระหว่างแช่น้ำหากมีเมล็ดที่ลอยน้ำให้คัดออกอีกรอบหนึ่ง
  2. ขั้นตอนการปลูก โดยการขุดหลุมให้มีความลึกประมาณ 10 ซม. แต่ละหลุมให้ห่างกันตามความเหมาะสมแล้วให้ใส่ใบคูนแห้ง ที่ก้นหลุม และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 5-10-5 หรือ 15-15-15 ประมาณครึ่งช้อนโต๊ะ พร้อมทั้งหยอดเมล็ดถั่วฝักยาว 3-4 เมล็ด แล้วกบดินในหลุมหนาประมาณ 3-4 ซม. พร้อมรดน้ำทันที ระยะแรก ควรให้น้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ประมาณ 1 สัปดาห์ หรือให้ ดูตามความเหมาะสมของสภาพอากาศด้วย
  3. ขั้นตอนการดูแลรักษายอดอ่อนหลังจากให้น้ำมา1สัปดาห์แล้ว จะเห็นยอดอ่อนเริ่มงอกออกมาจากเมล็ดปล่อยให้เห็นใบจริงสัก 3-4 ใบก่อน แล้วให้ถอนแยกเก็บเอาเฉพาะต้นที่ดีและแข็งแรงไว้สัก 2-3 ต้นต่อหลุม พร้อมทั้งโรยแกลบกลบรอบโคนหลุม และเก็บวัชพืชต่างๆออกก่อน รดน้ำให้ฉ่ำแต่ไม่ควรแช่มากเกินไป วิธีการให้น้ำในระยะที่ถั่วฝักยาวกำลังเจริญเติบโตควรให้น้ำทุกๆ 3-5 วันต่อครั้ง หรือให้พิจารณาตามความชื้นในดินและฤดูการปลูกให้เหมาะสม โดยจะตักน้ำรดโดยตรงหรือจะปล่อยน้ำเข้าตามร่องสวนก็ได้ให้ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่มี ด้วย
  4. วิธีการปักค้างบนแปลงถั่วฝักยาว ควรปล่อยให้ต้นถั่วฝักยาวมีความสูงประมาณ 20ซม.เป็นอย่างน้อย จึงใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่นๆ ที่หาได้ง่ายปักแต่ละหลุมให้สูงประมาณ 2 เมตร หรือตามความเหมาะสม แล้วรัดขึงด้วยลวด เป็นชั้นๆ ให้ห่างกันประมาณ 35 ซม. ตามความสูงของไม้ไผ่ และให้พันลำต้นถั่วฝักยาวเลื้อยขึ้นค้าง และในช่วง เดือนแรก ควรเก็บกำจัดวัชพืชที่ขึ้นอยู่โดยรอบออกอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าต้นถั่วฝักยาวจะสามารถเติบโต และแข็งแรงแล้ว
  5. ปุ๋ยที่ใช้กับถั่วฝักยาวและระยะเวลาในการใช้ให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น กล่าวคือ ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องการแร่ธาตุ ไพรแทสเซียม และฟอสฟอรัสสูง หลังจากต้นถั่วฝักยาวมีอายุได้ประมาณ 15 ถึง 20 วัน ให้ทำการพรวนดินอีกครั้ง แล้วใส่ปุ๋ยเคมี สูตร15-15-15 หรือสูตร13-13-21ในอัตราส่วน 1ช้อนโต๊ะต่อ1หลุม และใส่ปุ๋ยคอกลงไปด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น และรออีก 30ถึง40วันจึงจะเก็บผลผลิตในงวดแรกได้ และเมื่อเก็บผลผลิตแล้วให้ใส่ปุ๋ยสูตรเดิมอีกประมาณ 1.5 ช้อนโต๊ะต่อหลุม และระยะเวลาที่จะสามารถเก็บผลผลิตได้ในครั้งต่อไปคืออีกทุกๆ 3-5วัน แต่ต้องใส่ปุ๋ยทุกครั้งที่เก็บผลผลิตในปริมาณ 1.5 ช้อนโต๊ะด้วยเช่นกัน เพื่อบำรุงต้นให้สามารถเก็บผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยปกติจะสามารถเก็บผลผลิตได้นานประมาณ 40 ถึง 60 วัน ขึ้นอยู่กับการดูแลด้วย
  6. วิธีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกทางหนึ่งโดยการนำเอามูลสัตว์ต่างๆ เช่น มูลวัว, ควาย, มูลไก่, มูลค้างคาว รวมกับ กระดูกป่น,ปลาป่น, รำข้าว, แกลบ และแคลเซียมฟอสเฟตแมกนีเซียมโดยการนำมาหมักรวมกันและเพิ่มหัวเชื้อจุลินทรีย์EM เพื่อทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพดี โดยจะมีธาตุ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมสูง เหมาะกับการปลูกถั่วฝักยาวเป็นอย่างยิ่ง และจะเป็นการลดสารเคมีที่จะตกค้างอยู่ในดินได้เป็นอย่างดี พร้อมยังสามารถลดต้นทุนในการบำรุงได้อีกทางด้วย
  7. วิธีการดูว่าถั่วฝักยาวจะติดโรคเชื้อราหรือไม่ กล่าวคือให้สังเกตที่บริเวณใต้ใบส่วนกลางก่อน ถ้าใบมีจุดสีน้ำตาลแดงและลุกลามขึ้นบนลำต้น ซึ่งทำให้ลำต้นจะเหยี่ยวตาย ใบจะแห้ง โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงออกดอก ในโรคเชื้อราชนิดนี้ เรียกว่าCercospopar sp. วิธีแก้คือ ให้พ่นยาชนิด ไดเทนเอนทีเอ็ม 45 ทุกๆ 5-7วันแต่ถ้าหากใบมีจุดด่างเหลืองอ่อนแกมขาว จะทำให้ใบม้วนงอเป็นคลื่นและเหยี่ยวแห้ง ลำต้นแห้งตายด้วย โดยโรคเชื้อราชนิดนี้เรียกว่าOidium sp. วิธีแก้คือ ให้ใช้กำมะถันผงผสมน้ำ ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน
  8. วิธีป้องกันและกำจัดแมลงต่างๆ กล่าวคือถ้าเป็นเพลี้ยอ่อนจะดูดน้ำเลี้ยงของใบ และฝักถั่วและยอดอ่อนซึ่งจะทำให้ใบฝักอ่อน และลำต้นเหี่ยวบิดงอได้ โดยสามารถระบาดได้ในทุกระยะ วิธีป้องกันและกำจัดเพลี้ยอ่อน ทำโดยวิธีง่ายๆก่อนคือ ให้นำน้ำยาล้างจาน 3 ช้อนโต๊ะ และน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ มาผสมกับน้ำเปล่า 20 ลิตร แนะนำ ไปฉีดพ่นให้ทั่ว แต่จะต้องทำในช่วงเวลาแดดจัดๆ ซึ่งน้ำยาล้างจาน เมื่อถูกเพลี้ยอ่อนจะทำให้ผิวหนังเปราะบางขึ้นและเมื่อโดนแสงแดดจัดๆจะทำให้เพลี้ยอ่อนยุบตายในที่สุด ซึ่งถ้าได้ผลจะเป็นวิธีหนึ่งที่ลดต้นทุนในการกำจัดแมลงถ้าหากไม่ได้ผล ให้ใช้ สารเคมีชนิด เมธารอนโซนาต้ามอลต้าผสมน้ำ ในอัตราส่วนที่กำหนดในฉลากและคู่มือการใช้สารเคมีฉีดพ่นให้ทั่ว