บ้านเปร็ดบ้านเปร็ดในเป็นชุมชนเล็ก ๆ ใน ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด ประกอบด้วย 136 ครัวเรือน จำนวนประชากร 596 คน เป็นชาวจีนอพยพมาตั้งหลักแหล่งเมื่อ 50 ปีก่อน ใช้ชีวิตเรียบง่ายด้วยการปลูกข้าวไร่เลี้ยงชีพ ก่อนเปลี่ยนมาถางป่าเพื่อปลูกสวนยางสงเคราะห์ ตามนโยบายส่งเสริมของรัฐในปี พ.ศ. 2522

ประกอบกับการเปิดสัมปทานป่าบกให้กลุ่มนายทุน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484-2525 จึงมีการบุกรุกเข้าป่าใช้สอยของชุมชน โดยไม่มีการปลูกป่าทดแทน และขุดคันคูน้ำกั้นน้ำเค็ม ต้นไม้ในป่าจึงล้มตายเป็นจำนวนมาก

ปี พ.ศ. 2526-2528 สภาพป่าชายเลนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากการทำนากุ้ง นายทุนเข้าขุดลอกคลองแบ่งเขตป่าชายเลนเพื่อทำบ่อเลี้ยงกุ้งในเขตป่าสงวนแห่ง ชาติ ชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มกันปรึกษาปัญหาและผลกระทบอย่างหนัก เกิดการปะทะและต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านนานนับปี กระทั่งสามารถระเบิดประตูน้ำในนากุ้งและขับไล่นายทุนออกจากพื้นที่ได้สำเร็จ และปลายปี พ.ศ. 2530 ชาวบ้านได้ร่วมมือฟื้นฟูปลูกพันธุ์ไม้เสริมป่าชายเลนเป็นครั้งแรก

ทว่าวิกฤติที่หนักกว่ากลับเข้าแทนที่ เม็ดเงินกำไรงามจากการทำนากุ้ง ทำให้ชาวบ้านกลับมาทำนากุ้งแทบทุกหลังคาเรือน สารเคมีที่สะสมในนากุ้งถูกปล่อยลงป่าชายเลนโดยตรง ไม่มีระบบกำจัดน้ำเสีย กุ้งเกิดโรคระบาด ระบบนิเวศเสื่อมโทรม ความหลากหลายในป่าชายเลนถูกทำลาย และนำไปสู่วิกฤติรุนแรงที่สุดในปี พ.ศ. 2534 นากุ้งล่มสลาย ชุมชนมีหนี้สินรวมกันถึง 30 ล้านบาท กลายเป็นบทเรียนราคาแพงของชาวชุมชนบ้านเปร็ดในจวบจนทุกวันนี้

จากนั้นจึงร่วมมือร่วมใจกันทั้งชุมชนฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนขนาด เนื้อที่ 12,000 ไร่ จนมีความอุดมสมบูรณ์เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 20 ต้น ๆ ของโลก ร่วมกันป้องกันการพังทลายของหน้าดินริมฝั่งทะเล ด้วยการทำเต๋ายาง ให้เป็นปะการังเทียม จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ และสร้างคนรุ่นใหม่สืบสานภารกิจ ใช้งานวิจัยเพื่อลดความขัดแย้งทางความคิด และรวบรวมผลงานวิจัยเป็นชุดความรู้เชิงวัตกรรมของชุมชน มีการบูรณาการผลผลิตจากความอุดมสมบูรณ์ของป่า มาสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ เช่น เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ธนาคารปูแสม บ้านปลา โครงการ “หยุดจับร้อยคอยจับล้าน” ไม่ให้จับปูแสมในคืนแรม 4-5-6 ค่ำ เพียง 3 คืน ในเดือน 11 หรือ เดือนตุลาคม เพราะเป็นช่วงที่ปูแสมวางไข่และเป็นตัวอ่อน ทำให้มีลูกปูแสมเติบโตได้ในทุกปี ชาวบ้าน มีรายได้จากการจับปูแสมเพิ่มขึ้น

ลดหนี้สินชุมชนด้วยระบบสัจจะออมทรัพย์ สามารถปลดหนี้สินชาวบ้านจาก 30 ล้านบาท เหลือ 10 ล้านบาท มีรายได้ มีเงินออมเดือนละ 60,000 บาท และกลายเป็นต้นแบบการจัดการระบบสัจจะออมทรัพย์ให้กับชุมชนต่าง ๆ เข้ามาศึกษาดูงาน

ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระ ราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับจังหวัดตราด ได้นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางเข้าศึกษาดูงาน พบว่าในพื้นที่ไม่มีนากุ้งอีกแล้ว ขณะเดียวกันต้นโกงกางก็แทงยอดขยายกิ่งก้านแผ่อาณาจักรออกไปเรื่อย ๆ เนืองแน่นทั่วพื้นที่ จนสามารถกล่าวได้ว่าป่าชายเลนแห่งนี้มีความสมบูรณ์เอื้อต่อการขยายพันธุ์ของ สัตว์น้ำทะเลอย่างดีเยี่ยมทีเดียว.

ข่าวจากเดลินิวส์