ผักสวนครัว

ผักสวนครัวกับปัจจัยที่ควรคำนึง

ผัก เป็นอาหาร ประจำวัน ของมนุษย์ เป็นแหล่ง อาหารให้แร่ธาตุ วิตามิน ที่มีคุณค่า ทางอาหารสูง มีราคาถูกเมื่อ เปรียบเทียบ กับเนื้อสัตว์ จากข้อมูล วิจัยกล่าวว่า มนุษย์เราควร บริโภคผักวัน ละประมาณ 200 กรัม เพื่อให้ร่างกาย ได้รับ แร่ธาตุ และวิตามิน อย่างเพียงพอ

ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด (Butterhead Lettuce)

ข้อควรพิจารณาก่อนปลูกผักสวนครัว

การปลูกผักสวนครัวต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1. การเลือกสถานที่หรือทำเลปลูก ควรเลือกที่ที่มีความสมบูรณ์ ที่สุด อยู่ใกล้ แหล่งน้ำไม่ไกลจากที่พักอาศัย มากนักเพื่อความสะดวก ในการ ปฏิบัติงานด้านการปลูก การดูแลรักษาและสะดวกในการเก็บ มาประกอบ อาหารได้ทันทีตามความต้องการ
2. การเลือกประเภทผักสำหรับปลูก ชนิดของผักที่จะปลูกควรคำนึงถึง การใช้เนื้อที่ให้ได้ประโยชน์ มากที่สุดโดยการปลูกผัก มากชนิดที่สุดเพื่อจะได้มีผักไว้บริโภคหลาย ๆ อย่าง และควรเลือกชนิดของผักที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และปลูกให้ตรง กับฤดูกาล ทั้งที่ควรพิจารณาเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดพันธุ์ วันเสื่อมอายุ ปริมาณหรือน้ำหนัก โดยดูจากสลาก ข้างกระป๋อง หรือซองที่บรรจุเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ทราบว่า เมล็ดพันธุ์นั้นใหม่หรือเสื่อมความงอกแล้ว เวลาวันที่ผลิตถึงวันที่จะซื้อ ถ้ายิ่งนาน คุณภาพเมล็ดพันธุ์จะลดลง

การเลือกทำเลการปลูกผัก

1. ที่ตั้งของสถานที่ปลูก ในการปลูกผักหรือพืช จำเป็นต้องมีดินหรือวัสดุให้ต้นพืชยึดเกาะรวมทั้งเป็นแหล่งน้ำ แหล่งธาตุอาหารที่ จำเป็น ในการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งพิจารณาจากลักษณะของพื้นที่คือ
1.1 มีพื้นที่เป็นพื้นดินในบริเวณบ้าน อาจจะเป็นแหล่งน้ำหรือพื้นที่ปลูกบริเวณบ้าน เป็น สภาพพื้นที่ที่เลือกปลูกผัก ได้หลากชนิด ตามความต้องการ
1.2 ไม่มีพื้นที่ดินในบริเวณบ้าน ผักสวนครัวบางชนิดจะปลูกได้ จำเป็นต้องปลูกในภาชนะใส่ดินปลูก อาจจะวางบนพื้น หรือแขวน เป็นผักสวนครัวลอยฟ้า
2. สภาพแสงและร่มเงา นับว่ามีความจำเป็นในขบวนการสังเคราะห็แสงของพืชเพื่อสร้างอาหาร ปริมาณแสงที่ได้รับในพื้น ที่ปลูก แต่ละวันนั้นจะมีผลต่อชนิดของผักที่ปลูก โดยทั่วไปแล้วอาจแบ่งความต้องการแสงในการปลูกผัก ดังนี้
2.1 สภาพที่ไม่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ควรปลูกพืชผักที่สามารถเจริญเติบโตในร่มได้ เช่น ต้นชะพลู สะระแหน่ ตะไคร้ โหระพา ขิง ข่า และกะเพรา เป็นต้น
2.2 สภาพที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ควรเลือกปลูกผักที่สามารถเจริญเติบโตได้ในแสงปกติ เช่น ถั่วฝักยาว คะน้า ผักกาดเขียว กวางตุ้ง พริกต่าง ๆ ยกเว้น พริกขี้หนูสวน

ผู้ปลูกผัก

นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการปลูกผักนั้นผู้ปลูกต้องพิจารณาจากสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ความประสงค์ของผู้ปลูก ควรกำหนดว่าจะปลูกผักโดยมีวัตถุประสงค์อะไร เช่น การปลูกเพื่อต้องการได้ผัก มาบริโภค ประจำวัน หรือการปลูกเพื่อเป็นงานอดิเรก
2. ความรู้ในด้านการปลูกผัก ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่าการปลูกผักนั้นจะมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน ดังนั้นในการปลูก ผักทุก ประเภทไม่ว่าผักสวนครัวหรือการปลูกผักเป็นอาชีพต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของผักและวิธีการในการปลูกผัก
3. แรงงานในการปลูกผัก เนื่องจากผักเป็นพืชที่ต้องการความพิถีพิถันในการดูแลรักษา ดังนั้นการปลูกผักจึงต้องใช้แรงงาน ในการ ดูแลรักษาตามความเหมาะสม ปกติการปลูกผักเป็นอาชีพ แรงงานประมาณ 2-3 คน จะดูแลแปลงปลูกได้ประมาณ 2 ไร่ ส่วน การปลูกผักสวนครัวพื้นที่ประมาณ 30-40 ตารางเมตร ควรจะมีแรงงานดูแลรักษาเฉลี่ยวันละประมาณ 2-3 ชั่วโมง
4. ความชำนาญในการปลูกผัก การปลูกผักนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งผู้ปลูกจำเป็นต้องมีความชำนาญในการปลูก

ปลูกกะหล่ำดอก

การวางแผนการปลูกผัก

ความจำเป็นที่จะต้องวางแผนการปลูกผัก
1. ผู้ปลูกสามารถเลือกวิธีการปลูกผักให้เหมาะสมกับสภาพต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น สภาพพื้นที่ ฤดูกาล ผู้ปลูก ฯลฯ
2. เพื่อให้ได้ผักชนิดต่าง ๆ ตามที่ต้องการหลังจากปฏิบัติตามแผนแล้ว

วิธีการปลูกผักสวนครัว

การเตรียมแปลงปลูก มีขั้นตอน คือ
1.1 การพรวนดิน ใช้จอบขุดดินลึกประมาณ 6 นิ้ว เพื่อพรวนดินให้มีโครงสร้างดีขึ้น กำจัดวัชพืชในดินกำจัดไข่แมลง หรือโรคพืช ที่อยู่ในดินโดยการพรวนและตากทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน
1.2 การยกแปลง ใช้จอบพรวนยกแปลงสูงประมาณ 4-5 นิ้ว จากผิวดิน โดยมีความกว้างประมาณ 1-1.20 เมตร ส่วนความ ยาวควรเป็น ตาม ลักษณะของพื้นที่หรืออาจแบ่งเป็นแปลงย่อย ๆ ตามความเหมาะสมความยาวของแปลงนั้นควรอยู่ในแนวทิศเหนือ – ใต้ ทั้งนี้เพื่อให้ผักได้รับแสงแดดทั่วทั้งแปลง
1.3 การปรับปรุงเนื้อดิน เนื้อดินที่ปลูกผักควรเป็นดินร่วน แต่สภาพดินเดิมนั้นอาจจะเป็นดินทรายหรือดินเหนียว จำเป็นต้องปรับปรุง ให้เนื้อดินดีขึ้นโดยการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน
1.4 การกำหนดหลุมปลูก จะกำหนดภายหลังจากเลือกชนิดผักต่าง ๆ แล้วเพราะว่าผักแต่ละชนิดจะใช้ระยะปลูกที่แตกต่างกัน เช่น พริก ควรใช้ระยะ 75 – 100 เซนติเมตร ผักบุ้งจะเป็น 5 x 5 เซนติเมตร เป็นต้น

การปฏิบัติดูแลรักษา

การดูแลรักษาด้วยความเอาใจใส่จะช่วยให้ผักเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์จนถึงระยะเก็บเกี่ยว การดูแลรักษาดังกล่าว ได้แก่
1. การให้น้ำ การปลูกผักจำเป็นต้องให้น้ำอย่างเพียงพอ การให้น้ำผักควรรดน้ำในช่วง เช้า – เย็น ไม่ควรรดตอนแดดจัด และรดน้ำแต่พอชุ่มอย่าให้โชก
2. การให้ปุ๋ย มี 2 ระยะ คือ
2.1 ใส่รองพื้นคือการใส่เมื่อเวลาเตรียมดิน หรือรองก้นหลุมก่อนปลูกปุ๋ยที่ใส่รองพื้นควรเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คลุกในดินให้ทั่ว ก่อน ปลูกเพื่อ ปรับโครงสร้างดินให้โปร่งร่วนซุย นอกจากนั้นยังช่วยในการ อุ้มน้ำและรักษาความชื้น ของดินให้เหมาะสม กับการ เจริญเติบโตของพืชด้วย
2.2 การใส่ปุ๋ยบำรุง ควรจะใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อย้ายกล้าไปปลูกจนกล้าตั้งตัวได้แล้ว และใส่ครั้งที่ 2 หลังจากใส่ครั้งแรกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ การใส่ให้โรยบาง ๆ ระหว่างแถว ระวังอย่าให้ปุ๋ยอยู่ชิดต้น เพราะจะทำให้ ผักตาย ได้ เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วให้พรวนดินและรดน้ำทันที สูตรปุ๋ยที่ใช้กับพืชผัก ได้แก่ ยูเรีย แอมโมเนียซัลเฟต สำหรับบำรุงต้น และใบ และปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 12-24-12 สำหรับเร่งการออกดอกและผล
3. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ควรบำรุงรักษาต้นพืชให้แข็งแรง โดยการกำจัดวัชพืช
การให้น้ำอย่างเพียงพอและใส่ปุ๋ยตามจำนวนที่กำหนดเพื่อให้ผักเจริญเติบโต แข็งแรง ทนต่อโรคและแมลง หากมีโรคและ แมลง ระบาด มากควรใช้สารธรรมชาติ หรือใช้วิธีกลต่าง ๆ ในการป้องกันกำจัด เช่น หนอนต่าง ๆ ใช้มือจับออก ใช้พริกไทยป่นผสม น้ำฉีดพ่น ใช้น้ำคั้นจากใบหรือเมล็ดสะเดาถ้าเป็นพวกเพลี้ย เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และเพลี้ยจักจั่น ให้ใช้น้ำยา ล้างจาน 15 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นใต้ใบเวลาเย็น ถ้าเป็นพวกมด หอย และทากให้ใช้ปูนขาวโรยบาง ๆ ลงบริเวณพื้นดิน

ปลูกผัก

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวผักควรเก็บในเวลาเช้าจะทำให้ได้ผักสดรสดี และหากยังไม่ได้ใช้ให้ล้างให้สะอาด และนำเก็บไว้ในตู้เย็น สำหรับผัก ประเภทผลควรเก็บในขณะที่ผลไม่แก่จัดจะได้ผลที่มีรสดี และจะทำให้ผลดก หากปล่อยให้ผลแก่คาต้น ต่อไปจะออกผลน้อยลง

สำหรับในผักใบหลายชนิด เช่น หอมแบ่ง ผักบุ้งจีน คะน้า กะหล่ำปลี การแบ่งเก็บผักที่สดอ่อน หรือโตได้ขนาดแล้ว โดยยังคง เหลือ ลำต้นและรากไว้ไม่ถอนออกทั้งต้น รากหรือต้นที่เหลืออยู่จะสามารถงอกงามให้ผล ได้อีกหลายครั้งทั้งนี้จะต้อง มีการดูแล รักษา ให้น้ำและปุ๋ยอยู่ การปลูกพื้นหมุนเวียนสลับชนิดหรือปลูกผัก หลายชนิดในแปลงเดียวกันและปลูกผัก ที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นบ้าง ยาวบ้างคละกันในแปลงเดียวกัน หรือปลูกผักชนิดเดียวกันแต่ทยอยปลูกครั้งละ 3-5 ต้น หรือประมาณว่าพอรับประทาน ได้ใน ครอบครัว ในแต่ละครั้งที่เก็บเกี่ยว ก็จะทำให้ผู้ปลูกมีผักสดเก็บรับประทานได้ทุกวันตลอดปี

4 Comments

  1. 555+

    555+

  2. ดา

    ท่า

  3. กัลยา

    เก่งมากดีน่

  4. กมลพงศ์

    ยอดเลยครัป ผมอายุ13ทามผักเกือบทุกวันเลยครัป

Leave a Reply

Vegetweb *สงวนลิขสิทธิ์ หากนำบทความไปใช้บนเว็บไซต์ต้องเชื่อมโยงลิ้งก์กลับมายังหน้านั้น