ผักตระกูล ผักกาดหอม

ผักกาดหอม หรือ ผักสลัด

ผักกาดหอม

ผักกาดหอม เป็นผักที่ใช้บริโภคส่วนใบ เป็นผักจำพวกผักสลัดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง นิยมบริโภคกันแพร่หลายที่สุดในบรรดาผักสลัดด้วยกัน โดยส่วนใหญ่ นิยมรับประทานสดแบะนำมาประกอบอาหารหลายชนิด คนไทยนิยมใช้ผักกาดหอมกินกับอาหารจำพวกยำต่างๆ สาคูหมู หรือข้าวเกรียบปากหม้อ เป็นต้น ประโยชน์ของผักกาดหอมนอกจากจะใช้กินเป็นผักสดที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ยังจัดเป็น อาหารทางตา ด้วยโดยการนำมาตกแต่งอาหารให้มีสีสันสวยงามน่ารับประทานมากขี้น นอกจากนี้ผักกาดหอมยังมีคุณสมบัติในการเป็นยา อีกด้วย ความต้องการผักกาดหอมมีอยู่ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ จึงนับได้ว่าผักกาดหอมเป็นผักที่มีความสำคัญทาง เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นับวันจะทวีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผักกาดหอมมีชื่อเรียกอื่นๆ ได้หลายชื่อเช่น ภาคเหนือเรียกว่า ผักกาดยี ภาคกลางเรียกว่าผักสลัด เป็นต้น ผักกาดหอมเป็นพืช ที่จัดอยู่ในตระกูล Compositae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lactuca sataiva มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเซียและยุโรปมีปลูกในประเทศไทย มาช้านานแล้ว

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ ผักกาดหอม หรือ ผักสลัด
ราก รากของผักกาดหอมเป็นระบบรากแก้ว มีรากแก้วที่แข็งแรงอวบอ้วน และเจริญอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อปลูกในดินร่วน ปนทราย ที่มีความชื้นเพียงพอ รากแก้วสามารถหยั่งลึกลงไปในดินได้ถึง 5 ฟุต หรือมากกว่าแต่รากแก้วจะเสียหายในขณะที่ย้ายปลูก ดังนั้นรากที่เหลือจะเป็นรากแขนง ซึ่งแผ่กระจายอยู่ใต้ผิวดินประมาณ 1-2 ฟุต โดยปริมาณของรากจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหนาแน่น ไม่ค่อยแพร่กว้างออกไปมากนัก อย่างไรก็ตามการย้ายปลูกนั้นมีผลดีในการช่วยให้ผักกาดหอมประเภทหัวห่อหัวได้ดีขึ้น
ลำต้น ลำต้นของผักกาดหอมในระยะแรกมักจะมองไม่ค่อยเห็น เนื่องจากใบมักจะปกคลุมไว้ จะเห็นชัดก็ต่อเมื่อระยะแทงช่อดอก ลักษณะลำต้นผักกาดหอมจะตั้งตรง สูงชะลูดขึ้นจนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ลำต้นมีลักษณะอวบอ้วน ถ้าปลูกในที่ ที่มีความ อุดมสมบูรณ์มากๆ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 2 นิ้ว ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อสั้น แต่ละข้อจะเป็นที่เกิดของใบ
ใบ ใบแตกออกมาจากลำต้นโดยรอบ สีใบมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียวปนเหลือง จนถึงสีเขียวแก่ บางพันธุ์มีสีแดงหรือน้ำตาลปนอยู่ ทำให้ มีสีแดง บรอนซ์ หรือน้ำตาลปนเขียว พันธุ์ที่ห่อเป็นหัวจะมีใบหนา เนื้อใบอ่อนนุ่ม ใบจะห่อหัวอัดกันแน่นคล้ายกะหล่ำปลี ใบที่ห่ออยู่ ข้างใน จะเป็นมัน บางชนิดมีใบม้วนงอเปราะมีเส้นใบเห็นได้ชัด ขอบใบมีลักษณะเป็นหยักขนาดและรูปร่างของใบ ผักกาดหอมจะแตกต่าง กันตามชนิด
ดอกและช่อดอก ดอกผักกาดหอมมีลักษณะเป็นช่อแบบที่เรียกว่า Panicle ประกอบด้วยกลุ่มของดอกที่อยู่เป็นกระจุกตรงยอด แต่ละกระจุกประกอบด้วยดอกย่อย 15-25 ดอกหรือมากกว่า ก้านช่อดอกจะยาวประมาณ 2 ฟุต ช่อดอกอันแรกจะเกิดที่ยอดอ่อน จากนั้นจะเกิดช่อดอกข้างตรงมุมใบขึ้นภายหลัง ช่อดอกที่เกิดจากส่วนยอดโดยตรงจะมีอายุมากที่สุด ส่วนช่อดอกอื่นๆ จะมีอายุรอง ลงมา ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีเหลือง ตรงโคนเชื่อมติดกัน รังไข่มี 1 ห้อง เกสรตัวเมียมี 1 อัน มีลักษณะเป็น 2 แฉก เกสรตัวผู้ 5 อัน รวมกันเป็นยอดยาวห่อหุ้มก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียไว้
เมล็ด เมล็ดผักกาดหอมเป็นชนิดเมล็ดเดียว (achene) ซึ่งเจริญมาจากรังไข่อันเดียว เมล็ดจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดบาง เปลือกเมล็ดจะ ไม่แตก เมื่อเมล็ดแห้งเมล็ดของผักกาดหอมมีลักษณะแบนยาว หัวท้ายแหลมเป็นรูปหอก มีเส้นเล็กๆ ลาดยาวไปตามด้านยาวของเมล็ด ที่ผิวเปลือกหุ้มเมล็ด เมล็ดมีสีเทาปนครีมความยาวของเมล็ดประมาณ 4 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร

ชนิดและัพันธุ์ของผักกาดหอม ผักกาดหอมที่ปลูกและใช้บริโภคกันในปัจจุบันสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะคือ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหอมใบ และผักกาดหอมต้น ซึ่งมีลักษณะดังนี้

ผักกาดหอมห่อ (Head lettuce) เป็นผักกาดหอมที่ใบห่อเป็นหัว ซึ่งเกิดจากการที่ใบเรียงซ้อนกันหนามาก ผักกาดหอมห่อนี้แบ่งออก ได้เป็น 3 ชนิดด้วยกันคือ

  1. ชนิดห่อหัวแน่น (Crisp head) ลักษณะใบบาง กรอบ เปราะง่าย เห็นเส้นกลางใบชัดเจนใบห่อเป็นหัวแน่น แข็งคล้าย กะหล่ำปลี เป็นชนิดที่นิยมกันมากในทางการค้าเพราะสามารถขนส่งได้สะดวก ผักกาดหอมชนิดนี้ ได้แก่ พันธุ์ เกรทเลค (Great lake) , นิวยอร์ค (New york), อิมพีเรียล (Imperial), โปรกรีสส์ (Progress) เป็นต้น
  2. ชนิดห่อหัวไม่แน่น (Butter head) ลักษณะห่อเป็นหัวหลวม ใบจะอ่อนนุ่มและผิวใบมันใบไม่กรอบเหมือนชนิด ห่อหัว แน่น ใบที่ซ้อนอยู่ข้างในจะมีลักษณะเหมือนถูกเคลือบด้วยน้ำมันหรือเนยคืออ่อนนุ่มและเป็นเมือกลื่นๆ ใบข้างในซ้อนทับกันแน่น พอประมาณ สีเหลืองอ่อนคล้ายเนย เป็นผักกาดหอมชนิดที่ชอบอากาศหนาวเย็น ไม่ทนทานต่ออากาศร้อน แต่อายุการเก็บเกี่ยว จะเร็วกว่าชนิดห่อหัวแน่น พันธุ์ที่นิยมได้แก่ พันธุ์บิ๊ก บอสตัน (Big Boston), ไวท์ บอสตัน (White Boston) เป็นต้น
  3. ชนิดห่อหัวหลวมค่อนข้างยาว เป็นผักกาดหอมชนิดที่ใบห่อเป็นรูปกลมยาวหรือรูปกรวย ลักษณะหัวคล้ายผักกาดขาวปลี ใบมีลักษณะยาวและแคบ ใบแข็ง นิยมกันมากในทวีปยุโรป แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ พันธุ์ที่มีหัวขนาดใหญ่ ได้แก่ พันธุ์ปารีส ไวท์ (Paris White), ไวท์ ฮีท (White Heart) เป็นต้น และพันธุ์ที่มีหัวขนาดเล็ก ได้แก่ พันธุ์ ลิทเติ้ล เจม (Little Gem)

ผักกาดหอมใบ (Leaf lettuce)
เป็นผักกาดหอมที่ใบไม่ห่อเป็นหัว นิยมปลูกกันทั่วไปในประเทศไทย ผักกาดหอมประเภทนี้ ใบจะกว้างใหญ่และหยิกเจริญเติบโตออกไปทางด้านบนและด้านข้าง ไม่ห่อเป็นหัว ต้นเป็นพุ่มเตี้ย ผักกาดหอมใบจะทนต่ออากาศ ร้อนได้ดีกว่าประเภทอื่นๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ชนิดที่มีสีเขียวทั้งต้น ได้แก่ พันธุ์ Grand Rapids, Simpson’s Curled, Boston Curled และ Slobott เป็นต้น
  2. ชนิดที่มีสีน้ำตาลทั้งต้น ได้แก่ พันธุ์ Prize Head เป็นต้น

ผักกาดหอมต้น (Stem lettuce) เป็นผักกาดหอมที่ปลูกเพื่อใช้ลำต้นรับประทานเท่านั้น มีลักษณะลำต้นอวบ ลำต้นสูงใบจะเกิด ขึ้น ต่อๆ กันไปจนถึงยอดหรือช่อดอก ใบจะมีลักษณะคล้ายผักกาดหอมใบ แต่ใบจะเล็ก หนาและสีเข้มกว่า มีทั้งชนิดกลมและยาว ไม่ห่อหัว โดยทั่วไปไม่ค่อยนิยมปลูกกัน ได้แก่ พันธุ์ Celtuce

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อผักกาดหอม
ผักกาดหอม เป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย แต่สามารถปลูก ผักกาดหอม ได้ผลดีที่สุดในดินร่วน ซึ่งมีการระบายน้ำและระบายอากาศดี ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดินอยู่ระหว่าง 6.0-6.8 มีความชื้นในดินพอสมควร พื้นที่ปลูกผักกาดหอมควรให้ได้รับแสงเต็มที่ตลอดวัน เพราะผักกาดหอมต้องการแสงเต็มที่ตลอดวัน ผักกาดหอม เป็นพืชฤดูเดียวเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็นระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมนั้น ถ้าเป็นผักกาดหอมใบจะอยู่ระหว่าง 21-26 องศาเซลเซียส แต่ถ้าผักกาดหอมห่อหัวจะอยู่ระหว่าง 15.5-21 องศาเซลเซียส หากปลูกผักกาดหอมในสภาพอุณหภูมิ ที่สูง เกินไปจะทำให้ผักกาดหอมมีรสขมและแทงช่อดอกเร็ว แต่อย่างไรก็ตามผักกาดหอมสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์

5 Comments

  1. por

    good

  2. por

    แต่

  3. นศ.วิศวะเกษตร

    การทดลองนะครับ
    ถ้าสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ แสงได้ ความชื้น สารอาหาร
    มีคำแนะนำไหมครับว่า ปริมาณเท่าไหร่จะได้ผลผลิตผักกาดหอมตามที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุด แล้วให้ผลผลิตเร็วที่สุด

  4. ปาปา

    ok ชอบ

Leave a Reply

Vegetweb *สงวนลิขสิทธิ์ หากนำบทความไปใช้บนเว็บไซต์ต้องเชื่อมโยงลิ้งก์กลับมายังหน้านั้น