ผักตระกูล แตง

บวบเหลี่ยม (Angled Gourd)

บวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม เป็นพืชผักที่อยู่ในตระกูล Cucurbitaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Luffa acutangula เป็นผักที่ใช้บริโภคส่วนของผล สามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้ม แกง ผัด หรือจิ้มน้ำพริก มีรสหวาน นอกจานี้บวบยังเป็นพืชที่มีลักษณะพิเศษ คือ ทนแล้ง ทนฝน โรคและแมลงไม่รบกวน
บวบเหลี่ยมเป็นพืชเถาเลื้อย อายุสั้น มีมือจับเกาะช่วยพยุงลำต้นบวบเหลี่ยมต่างจากบวบชนิดอื่นตรง ที่ผลมีลักษณะเป็นเหลี่ยม หลายเหลี่ยม ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกันอยู่ในต้นเดียวกันเช่นเดียวกับบวบหอม แต่มีลักษณะแตกต่างกันที่ใบเลี้ยงของต้นกล้า บวบเหลี่ยมมีสีเขียว ใบแก่มีสีเขียวอ่อนกว่าใบใหญ่กว่าเล็กน้อย ลอนบนใบตื้นกว่า ดอกจะบานในเวลาเย็น โดยบานตั้งแต่เวลา 17.30 น.เป็นต้นไป มีเหลี่ยมตามความยาวของผลตั้งแต่ขั้วจรดปลายผล ผิวผลค่อนข้างขรุขระ สีเขียวแก่
สำหรับพันธุ์ของบวบเหลี่ยมที่ปลูกในบ้านเรา ยังไม่มีการจำแนกรายละเอียดออกเป็นพันธุ์ต่างๆ ส่วนใหญ่ถือเป็นพันธุ์พื้นเมือง เพราะปลูกกันมานาน และมักเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์เองต่อๆ กันไป

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

บวบเหลี่ยม สามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด และดินค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย ในดินมีความชื้นสูงพอเหมาะสม่ำเสมอ ควรได้รับ แสงแดด เต็มที่ในระหว่างการปลูก อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล

การเตรียมดิน

บวบเหลี่ยม เป็นผักที่มีระบบรากลึกปานกลาง ควรขุดไถดินลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วคลุกเคล้าลงไปในดินโดยเฉพาะดินทรายและดินเหนียวต้องใส่ให้มาก เพื่อปรับสภาพของดินให้ดีขึ้นและ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ย่อยดินและ พรวนดิน ให้ละเอียดร่วนโปร่งพร้อมที่จะปลูกได้

การปลูกบวบเหลี่ยม

ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ ระยะระหว่างต้น 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร การปลูกให้หยอดเมล็ดพันธุ์โดยตรงลง ในแปลงหลุมละ 4-5 เมล็ด ฝังให้ลึกลงไปในดินประมาณ 2-4 เซนติเมตร จากนั้นกลบเมล็ดด้วยดินร่วนหรือปุ๋ยคอกหนาประมาณ 1 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เมื่อต้นกล้างอกอายุได้ประมาณ 10-15 วันหรือมีใบจริง 2-4 ใบ ให้ถอนแยกต้นที่ อ่อนแอ หรือต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง ให้เหลือไว้หลุมละ 3 ต้น

การทำค้างบวบเหลี่ยม

ค้างบวบเหลี่ยม

เมื่อบวบเหลี่ยมเริ่มเลื้อยหรือเมื่ออายุประมาณ 15-20 วัน ควรทำค้างหรือร้านเพื่อให้บวบเลื้อยเกาะขึ้นไป การปลูกแบบปล่อยให้ ต้นเลื้อย ไปตามพื้นดินโดยไม่ทำค้างหรือร้าน จะทำให้ผลบวบมีรูปร่างงอโค้งไม่สวย ไม่เป็นที่นิยมของผู้ซื้อ การทำค้างให้บวบเหลี่ยม สามารถทำได้ 2 แบบ คือ
1. ปักไม้ค้างยาว 2 – 2 1/2 เมตรทุกหลุม แล้วเอนปลายเข้าหากัน มัดไว้ด้วยกัน แล้วใช้ไม้ค้างพาดขวางประมาณ 2-3 ช่วง ทุกๆ ระยะ 40-50 เซนติเมตร
2. ทำเป็นร้าน โดยใช้ไม้ค้างผูกเป็นร้านสูงประมาณ 1 1/2 – 2 เมตร หรือระยะสูงพอเหมาะที่สะดวกต่อการทำงาน นอกจากนี้ อาจ ใช้ค้าง ธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว เช่น ไม้พุ่มเล็กๆ รั้วบ้าน ฯลฯ ซึ่งเหมาะสำหรับการปลูกแบบสวนครัว

การปฏิบัติดูแลรักษาบวบเหลี่ยม

การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ ไม่ควรให้บวบเหลี่ยมขาดน้ำ ในระยะออกดอกและติดผล เพราะทำให้ดอกร่วงและ ไม่ติดผล ระบบการให้น้ำแบบปล่อยตามร่องจะให้ผลดี และหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอยเพราะจะทำให้เกิดปัญหาโรคทางใบได้
การใส่ปุ๋ย บวบเหลี่ยมเป็นผักกินผล ควรให้ปุ๋ยที่มีสัดส่วน ของธาตุไนโตรเจน 1 ส่วน ฟอสฟอรัส 1 ส่วน และโปแตสเซียม 1 1/2 – 2 ส่วน เช่น ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือสูตรอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน ในอัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ และควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ยูเรียหรือ แอมโมเนียมไนเตรทประมาณ 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตในช่วงแรก แต่ต้องระมัดระวัง ไม่ควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิด อาการเฝือใบ การใส่ควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ใส่ครั้งแรกในตอนปลูกแบบรองพื้นแล้วพรวนดินกลบ และใส่ครั้งที่สองเมื่อ บวบอายุประมาณ 20-30 วัน โดยใส่แบบโรยข้างแล้วพรวนดินกลบ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ควรใส่เพียงครั้งเดียว แบบโรยข้าง เมื่อบวบอายุประมาณ 7-10 วัน

การเก็บเกี่ยวผลผลิตบวบเหลี่ยม

อายุการเก็บเกี่ยวของบวบเหลี่ยมประมาณ 45-60 วันหลังจากหยอดเมล็ด ควรเลือกเก็บเกี่ยวผลขณะที่ยังอ่อนอยู่ เนื้อผลอ่อนนุ่มได้ ขนาดพอเหมาะ ซึ่งผลจะมีขนาดยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ควรเก็บเกี่ยวก่อนที่ผลเริ่มแข็งและพองออก ไม่ควรทิ้งให้ผลแก่คา ติดต้น เพราจะทำให้ผลผลิตลดลง

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของบวบเหลี่ยม

โรคราน้ำค้างของบวบเหลี่ยม สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis
อาการเริ่มแรก จะพบเป็นจุดสีเหลืองซีด ขนาด เล็กทางด้านหน้าใบ จุดดังกล่าวจะขยายออกเป็นรูปเหลี่ยมตามลักษณะของเส้นใบ เมื่อพลิกดูใต้ใบในเวลาเช้าจะพบเขม่าสีเทา ดำ ตรงบริเวณแผลนั้น ซึ่งเป็นส่วนของเชื้อและเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นแผลมีลักษณะแห้ง ยุบตัวลง เมื่อแผลรวมกันมากๆ จะทำให้เกิด อาการ ใบไหม้
การป้องกันกำจัด คลุกเมล็ดด้วยเมทาแลคซิลอัตรา 7 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เก็บใบแก่ๆ ที่แสดงอาการ ของโรค ใส่ถุงพลาสติกแล้วนำไปเผาทำลาย นอกจากนี้ฉีดพ่นด้วย คลอโรทาโรนิลหรือแมลโคเซป ในอัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

เต่าแตง เต่าแตงมีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดสีดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aulacophola frontalis และชนิดสีแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aulacophola similis แต่ส่วนใหญ่จะพบสีแดง เต่าแตงเป็นแมลงปีกแข็ง ขนาดลำตัวยาว 0.8 เซนติเมตร ปีกคู่แรกแข็งเป็นมัน ลำตัวค่อนข้างยาว เคลื่อนไหวช้า จะพบเสมอเวลากลางวันที่มีแดดจัด ตัวอ่อนอาศัยอยู่ในดิน ลักษณะหนอนสีขาวยาวตัวเต็มวัย ของเต่าแตงสามารถมีอายุได้ถึง 100 วัน เต่าแตงตัวเมียวางไข่เดี่ยวๆ เป็นกลุ่มเล็กๆ อายุไข่ 8-15 วัน อายุตัวอ่อน 18-35 วัน อายุดักแด้ 4-14 วัน
ลักษณะการทำลาย โดยตัวแก่จะกัดกินใบ หากเกิดการระบาดรุนแรงทำให้ชะงักการทอดยอดได้ ส่วนตัวอ่อนอาศัยอยู่ในดินโดย กัดกินราก บวบที่ถูกเต่าแตงเข้าทำลายจะทำให้ผลผลิตลดลงและผลมีขนาดเล็กลง
การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูบวบ ในเวลา เช้าที่แดดยังไม่จัด การจับทำลายด้วยมือจะช่วยได้มาก ภายหลังเก็บเกี่ยวผลหมดแล้วไม่ ควร ปล่อย ต้นบวบทิ้งไว้บนแปลง ควรถอนทำลาย มิฉะนั้นอาจกลายเป็นแหล่งสะสมของเต่าแตงต่อไปได้ หากการระบาดรุนแรงควร เลือกใช้สารเคมีฆ่าแมลง เช่น คาร์บาริลหรือเซฟวิน 85 ในอัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเป็นครั้งคราว สำหรับเซฟวิน 85 ไม่ควร ใช้เกินอัตราที่แนะนำ เพราะอาจทำให้ใบไหม้ได้

2 Comments

  1. กอล์ฟ

    ขอบคุณครับ สำหรับบทความดีๆ ติดตามอ่านบทความของท่านบ่อยๆ

  2. สมชิต

    เป็นเพราะเหตุใดปลูกอยู่ออกดอกออกผลปุ๋ยก็ใส่แต่ตายเยเลย

Leave a Reply

Vegetweb *สงวนลิขสิทธิ์ หากนำบทความไปใช้บนเว็บไซต์ต้องเชื่อมโยงลิ้งก์กลับมายังหน้านั้น