ข่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Languas galanga (L.) stuntz และมีชื่อท้องถิ่น เช่น ข่าตาแดง, ข่าหยวก
ลักษณะของข่า เป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้า” เหง้าของข่ามีข้อและปล้องชัดเจน เนื้อในสีเหลือง และมีกลิ่นหอมเฉพาะ ลำต้นข่าที่อยู่เหนือดิน สูงได้ถึง 2 เมตร ใบข่าสีเขียว ออกสลับข้างกัน รูปร่างรียาว ปลายแหลม ดอกออกเป็นช่อที่ยอด ดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีขาวนวล ด้านในกลีบดอกมีประสีแดงอยู่ด้านหนึ่ง ผลเปลือกแข็ง รูปร่างกลมรี
คุณค่าด้านอาหารของข่า แง่งข่า เป็นเครื่องเทศที่ใช้ชูรสอาหาร ใส่ในเครื่องแกงทุกชนิด ใช้ปรุงต้มข่าไก่ ผัดเผ็ดลาบ ข่ายังมีในการช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อ บางทีก็ใส่ในต้มเนื้อ ข้าวต้มปลา เพื่อดับกลิ่นคาวได้เหมือนกัน แง่งข่ามีสารอาหารเช่นเดียวกับพืชผักอื่นๆ แต่มีปริมาณน้อย
ส่วนที่ใช้เป็นยาของข่า คือ เหง้าแก่ สดหรือแห้ง
รสและสรรพคุณยาไทยของข่า เหง้าข่า รสเผ็ดเปร่า ขับลม แก้บวม ฟกช้ำ
ประโยชน์ทางยาของข่า เหง้าข่ามีน้ำมันหอมระเหยประกอบอยู่มาก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ทำได้โดยใช้เหง้าแก่สดหรือแห้ง ขนาดเท่าหัวแม่มือ (สดหนัก 5 กรัม แห้งหนัก 2 กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้วิธีปรุงเป็นอาหารรรับประทานก็ได้ นอกจากนั้นยังนำมารักษาเกลื้อนได้ โดยใช้เหล้าสดฝนกับเหล้าโรง หรือน้ำสมสายชู หรือตำแล้วแช่แอลกอฮอล์ นำมาทาบริเวณที่เป็น
Leave a Reply